ธรรมะเชิงประวัติศาสตร์ นิยามของวัฏจักร การสร้างใหม่แล้วทุบทิ้ง เป็นวงกลมไปเรื่อยๆ
ความลำบากจริงๆไม่มีหรอก
ความสุขสบายจริงๆก็ไม่มีหรอก
ก็มีเพียงแค่ความไม่เข้าใจโลกเท่านั้นเอง
ที่ทำให้ต้องลำบาก..ใจ..
วัฏ แปลว่า วงกลม วัฏสงสาร แปลว่า วงกลมที่น่าสงสาร
ผู้ที่ตกอยู่ในวัฏสงสาร แปลว่า ผู้ที่ตกอยู่ในวงกลมที่น่าสงสาร คือวงกลมของการเป็นทาส ความรู้เท่าทันแล้วรู้จักวางอุเบกขาคือนิ่งเฉย เป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ต้องการออกจากวงกลมของการเป็นทาส
ความร่ำรวยที่แท้จริง ไม่ได้หมายถึง การมีเงินมาก เพราะถึงรวยอย่างไร คุณก็ไม่มีทางรวยกว่าคนที่มีอำนาจในการพิมพ์เงินได้ อย่างแน่นอน ออกจากความโง่งมงาย ออกจากความหลงว่าตนเองฉลาด กับของพวกนี้ได้แล้ว
สติปัญญาที่รู้เท่าทันอาการของโลกธรรมที่เกิดแก่ตนต่างหาก ที่จะสามารถสร้างความร่ำรวยที่แท้จริงให้คุณได้ นั้นคือ อริยทรัพย์ เป็นทรัพย์เพียงอย่างเดียวที่จะทำให้คุณสุขสบายข้ามภพข้ามชาติได้ รู้อย่างนี้แล้วก็พึงตัดสินใจ ลด ละ เลิก ความทะเยอทะยานอยาก ความเสียเวลา ความเกินพอดี ในสิ่งที่ไม่ได้นำพาความร่ำรวยที่แท้จริงมาให้คุณได้แล้ว ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

32. สหรัฐ vs จีน: ใครพึ่งพาใคร
ภาพของการอพยพของเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกัน และคนอเมริกันรวมท้ังชาวอัฟกันที่ตระเกียกตระกายอพยพหนีออกจากประเทศอัฟกานิสถานที่สนามบินคาบูลในช่วง2วันที่ผ่านมา สื่อความได้ดีกว่าคำพูดหลายร้อยหลายพันคำว่าจักรวรรดิอเมริกันมาถึงจุดเสื่อมที่กู่ไม่กลับ พวกตอลิบันสามารถกลับมายึดครองกรุงคาบูลได้หลังจากทำสงครามกับทหารอัฟกันและกองทัพอเมริกันมาเป็นเวลายาวนาน20ปี
โจ ไบเดนถูกโจมตีหนักว่าเป็นผู้นำที่ไม่เอาถ่าน เพราะปล่อยให้พวกตอลิบันเข้ามายึดครองกรุงคาบูลได้อย่างง่าย โดยที่ไม่ทันตั้งหลัก สถานทูตอเมริกันต้องปิดการทำการอย่างกระทันหัน ไบเดนต้องส่งทหาร5,000นายเข้าไปช่วยอพยพเจ้าหน้าที่สถานทูต สต๊าฟและคนอเมริกันออกจากประเทศอัฟกานิสถานอย่างฉุกละหุก
ประธานาธิบดีAshraf Ghani ที่เป็นผู้นำตุ๊กตาของสหรัฐเผ่นหนีก่อนใคร พร้อมเงินดอลล่าร์อัดแน่นเต็มกระเป๋าหลายใบ แต่ต้องทิ้งกระเป๋าลงบนรันเวย์สนามบิน เพราะว่าไม่มีที่ว่างพอที่จะยัดใส่เฮลิคอปเตอร์ ส่วนชาวอัฟกันจำนวนมากกลัพวกตอลิบัน พากันหนีตายมาออที่สนามบิน ทำให้ชุลมุนวุ่นวายไปหมด แต่เครื่องบินมีที่นั่งจำกัด มีชาวอัฟกันหลายคนใจกล้าพยายามเกาะล้อเครื่องบินในขณะที่เครื่องบินสหรัฐบินขึ้นฟ้า ทำให้ตกเครื่องบินตายเป็นที่น่าอนาถใจเป็นอย่างยิ่ง ช็อคกันไปทั้งโลก
มีภาพเฮลิคอปเตอร์Chinookลำเลียงขนคนอเมริกันจากสถานทูตไปยังสนามบินเหมือนกับเหตุการณ์ที่กรุงไซ่งอนแตกในปี 1975 ทำให้มีการเรียกการอพยพหนีออกจากกรุงคาบูลของสหรัฐในคร้ังนี้ว่าเป็นช่วงเวลาไซ่ง่อน (Saigon moment)
มันเป็นช่วงเวลาที่ตกต่ำที่สุดของจักรวรรดิสหรัฐ ที่เชื่อมั่นในแสนยานุภาพทางทหารที่ไร้เทียมทาน แต่ต้องมาพ่ายแพ้อย่างหมดรูปให้กับพวกตอลิบันที่เป็นนักรบหนวดเครายาวรุงรัง ใส่รองเท้าแตะ น้ำท่าไม่ค่อยจะได้อาบ กองทัพสหรัฐหนีออกจากอัฟกานิสถาน โดยทิ้งให้คนอัฟกันรับเคราะห์ต่อไป เพราะไม่มีใครรู้อนาคตของอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของพวกตอลิบันที่มีความตั้งใจเปลี่ยนประเทศเป็นรัฐอิสลามที่เคร่งครัด
เมื่อกองทัพสหรัฐล้มเหลวในสงครามอัฟกานิสถาน ละทิ้งชาวอัฟกันที่ฝักใฝ่ หรือทำงานให้สหรัฐและนาโต้ แล้วต่อไปผู้นำสหรัฐจะสื่อความอย่างไรกับประเทศต่างๆในกลุ่มอินโด แปซิฟิคว่าให้ร่วมมือล่มหัวจมท้ายกับสหรัฐในการปิดล้อมจีน เพื่อลดอิทธิลของจีนในภูมิภาค หรือเพื่อทำสงครามกับจีน
ประเทศใดที่ดำเนินนโยบายตามหลังสหรัฐในการปิดล้อมจีน หรือเป็นปฏิปักษ์กับจีนจะได้งบช่วยเหลือทางทหารกับสหรัฐ แน่นอนพวกทหาร หรือฝ่ายความมั่นคงจะชอบ ซึ่งอาจจะไม่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ แต่ถ้าสหรัฐเกิดเจรจาทางการเงินกับจีนได้ หักหลังพันธมิตรที่ถูกหลอกให้ถลำตัวไปเผชิญหน้ากับจีน แล้วประเทศนั้นจะวางตัวอย่างไรต่อไป จะมองหน้าจีนอย่างไร
ยิ่งถ้าเกิดสหรัฐรบกับจีน แล้วถอยหนีกลางคัน หรือประนีประนอมกับจีนได้ทางการเงินสกุลหลักของโลกหรือแพ้จีน แต่ทอดทิ้งพันธมิตรที่ร่วมรบกันมา แล้วประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐในการต่อต้านจีนจะอยู่อย่างไรต่อไป
เรื่องนี้ลุงแก่ๆแถวนี้ที่ชอบเดินตามก้นคนอื่น คิดถ่องแท้ดีหรือยัง ให้ดูอัฟกานิสถานเป็นตัวอย่าง
จริงอยู่ว่าที่ว่า อดีตประธานาธิบดีทรัมป์มีการเจรจากับพวกตอลิบันที่จะถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานในวันที่ 1พฤษภาคม เพราะสหรัฐประเมินแล้วว่า สงครามอัฟกันเสียมากกว่าคุ้มหลังจากทำสงครามมานาน19 ปี ตั้งแต่หลังเหตุการณ์911ในสมัยบุชในปี 2001 ทำให้ขวัญกำลังในของรัฐบาลอัฟกันหายไปหมด
ในสมัยของโอบามา สหรัฐส่งทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานมากถึง100,000นาย โอบามาพูดถึงการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน หลังจากที่ฆ่าบิน ลาเดน หัวหน้ากลุ่มก่อการร้ายอัล เคด้าตายในปากีสถานปี 2014 แต่เพนตากอนไม่ยอมถอนกำลังง่ายๆ เนื่องจากอัฟกานิสถานเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นแหล่งปลูกฝิ่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก 90%ของยาเสพติดมาจากอัฟกานิสถานที่หทารอเมริกันดูแลให้การคุ้มครอง การยึดครองอัฟกานิสถานเป็นส่วนหนึ่งของภาพรวมทางภูมิรัฐศาสตร์ในการมีอิทธิพลเหนือตะวันออกกลางและเอเชียกลางของสหรัฐ
แต่คนอเมริกันจะถูกขายฝันมาตลอดว่าสาเหตุที่สหรัฐต้องทำสงครามในอัฟกานิสถานก็เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย เพื่อที่จะทำให้อเมริกาปลอดภัยจากการก่อการร้าย ทั้งๆที่พวกอัล เคด้าเกิดขึ้นมาจากฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐ เพื่อให้เพนตากอนมีงานทำ ส่วนพวกตอลิบันก็ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรมากนอกประเทศอัฟกานิสถาน ไม่เหมือนกับอัล เคด้า หรือไอซิส ผลของสงครามอัฟกันประเทศเดียวทำให้สหรัฐต้องใช้งบประมาณ$2.2ล้านล้าน
ในขณะที่สถานทูตของประเทศตะวันตก หรือประเทศในกลุ่มนาโต้ที่ร่วมกับสหรัฐก่อสงครามกับพวกตอลิบันปิดการทำการเป็นแถวในกรุงคาบูล สถานทูตของรัสเซียและของจีนยังคงดำเนินการเป็นปกติ
ทหารอัฟกันที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสหรัฐไม่ต่อสู้ขัดขืนแม้แต่น้อย แถมทิ้งอาวุธหนีทัพ เมืองแล้วเมืองเล่าในอัฟกานิสถานตกอยู่ภายใต้การยึดครองของพวกตอลิบันอย่างง่ายดาย ท้ังๆที่พวกตอลิบันมีจำนวนนักรบ75,000นาย ส่วนทหารอัฟกันมีจำนวน 300,000นายพร้อมอาวุธที่ทันสมัยที่สุดที่สหรัฐซับไพลให้ พร้อมกับการฝึกรบอย่างดี
ตอลิบันรบด้วยใจ ไม่กลัวตาย ทหารอัฟกันรบด้วยเงิน กลัวตาย ผลก็เป็นอย่างที่เห็น
ประเด็นที่น่าสนใจต่อไปคือนโยบายต่างประเทศของจีนที่จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในอัฟกานิสถาน ตะวันออกกลาง และเอเชียกลางหลังจากที่สหรัฐพลาดท่าจากนโยบายการสงคราม แบ่งแยกและปกครอง ในขณะที่รัสเซีย อิหร่านและจีนสามารถจับมือกันได้ในการต้านทานอิทธิลของสหรัฐ
จีนพร้อมที่จะรับรองรัฐบาลตอลิบัน และให้เงินสนับสนุนในการบูรณะสร้างชาติใหม่เพื่อให้อัฟกานิสถานเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมที่จะเกิดขึ้นได้ ความสงบและสันติภาพต้องกลับคืนมาในตะวันออกกลางและเอเชียกลาง จีนจะไม่ติดกับดักของสงครามเหมือนอย่างที่รัสเซียติดหล่มสงครามในอัฟกานิสถานระหว่างปี1979ถึง 1989 และสหรัฐที่ติดหล่มสงครามเหมือนกันระหว่าง2001ถึง2021
ด้วยภูมิประเทศที่เป็นหลืบเป็นภูเขาสูงทำให้อัฟกานิสถานเป็นชัยภูมิที่ดีที่สุดในการป้องกันการรุกรานจากกองทัพต่างชาติ
เราจะได้เห็นนโยบายต่างประเทศของจีนว่าจะมีความแตกต่างจากนโยบายของสหรัฐอย่างไร โดยดูได้จากกรณีของอัฟกานิสถานต่อไป เพราะว่าจีนจะเน้นสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในการฟื้นฟูประเทศ จะช่วยลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สร้างตลาดอัฟกันให้เกิดขึ้น ให้มีอำนาจซื้อ ซึ่งเป็นนโยบายที่จีนทำอยู่แล้ว ที่ชัดเจนคือในกลุ่มประเทศแอฟริกา
ส่วนสหรัฐเน้นนโยบายการก่อสงคราม หรือการสนับสนุนโค่นล้มรัฐบาลที่ไม่ทำตามนโยบายของวอชิงตัน แล้วเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากเพนตากอนมีอำนาจเหนือทำเนียบขาวจึงเน้นการสงครามเป็นหลัก การทำสงครามทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องตั้งงบประมาณทหารนับ$1ล้านล้านในแต่ละปีทำให้ทหาร ฝ่ายความมั่นคง นักการเมือง พวกคอนแทร็คเตอร์ที่นักการเมืองมีเอี่ยว พ่อค้าขายอาวุธร่ำรวยอย่างมหาศาล นอกจากนี้สงครามทำให้สหรัฐสามารถพัฒนาอาวุธให้ทันสมัยไปได้เรื่อยๆเพื่อว่าจะได้ครอบงำระบบโลกได้
จีนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพวกตอลิบันอยู่แล้ว นโยบายของจีนต่ออัฟกานิสถานมีจุดประสงค์หลายประการด้วยกัน โดยจะร่วมมือกับปากีสถาน รัสเซีย และอิหร่านในการทำให้อัฟกานิสถานมีความมั่นคง ประการแรก อัฟกานิสถานมีแหล่งแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไม่ว่าจะเป็นทองแดง ทอง เงิน ยูเรเนียม สังกะสี ที่สำคัญมีแหล่งแร่แรเอิร์ทที่มีความสำคัญมากต่ออุตสาหกรรมอีเลคโทรนิกส์ นอกจากนี้อัฟกานิสถานมีแหล่งแร่ลิเธียมที่เอามาใช้ทำแบตเตอร์รี่รถยนต์ไฟฟ้า ประเมินกันว่าแหล่งแร่ลิเธียมของอัฟกานิสถานมีมากพอๆหรืออาจจะมากกว่าโบลิเวียด้วยซ้ำ รัฐบาลโบลิเวียชุดก่อนถูกทหารหนุนในการก่อการรัฐประหารเพราะว่าไปยกสัมปทานแหล่งแร่ลิเธียมให้กับบริษัทจีน ที่แข่งกับเทสล่าของสหรัฐ อัฟกานิสถานมีเพชรพลอย หรือหินสีที่มีค่ามากเป็นที่หมายปอง จีนจะได้ประโยชน์ในด้านการซับไพลทรัพยากรธรรมชาติของอัฟกานิสถานเพื่อแลกกับเงินลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจ
ประการที่สอง จีนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับปากีสถานอยู่แล้ว โดยมีโครงการChina Pakistan Economic Corridor ที่มีมูลค่าเงินลงทุน$62,000ล้าน ซึ่งเป็นการลงทุนที่เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม จีนจะจับเอาอัฟกานิสถานกับปากีสถานมาเชื่อมกันในโครงการนี้ ถ้าทำสำเร็จจะทำให้ประเทศต่างๆในภูมิภาคเร่งสร้างความมั่นคงให้ตัวเอง เพื่อกลับมาพัฒนาประเทศ และประชาชนจะไม่สนับสนุนผู้นำของตัวเองที่มีนโยบายสร้างความขัดแย้ง หรือก่อสงครามตัวแทน
ประการที่สาม จีนมีการพูดคุยกับพวกตอลิบันเป็นอย่างดีมาแล้ว อันเห็นจากที่คณะผู้แทนตอลิบันเดินทางไปเมืองเทียนจินของจีนเพื่อพบปะเจรจากับนายหวัง ยี รมวต่างประเทศของจีนอย่างเป็นทางการ จีนอ่านเกมออกว่า กรุงคาบูลใกล้ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของพวกตอลิบันแล้ว สิ่งที่จีนเป็นกังวลใจคือลัทธิการก่อการร้ายที่อาจจะแพร่จากอัฟกานิสถานแล้วเข้าไปในซินเจียง จึงต้องการการรับรองจากตอลิบันว่าให้ช่วยดูแลปัญหาเรื่องลัทธิการก่อการร้าย terrorism ลัทธิความรุนแรงสุดกู่ extremism และลัทธิแบ่งแยกดินแดน separatism
ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20นี้ เราจะได้เห็นนโยบายต่างประเทศที่จะแข่งขันกันระหว่างจีนกับสหรัฐ โดยจีนกำลังตีจากสหรัฐ เพราะว่าอยู่ในฐานะที่ไม่ต้องพึ่งพาสหรัฐอีกต่อไป การคบกับสหรัฐมีแต่จะเสียมากกว่าคุ้มในรูปแบบการส่งออกสินค้าราคาถูกไปให้ผู้บริโภคสหรัฐ ทำให้ต้องกดค่าหยวนให้ต่ำเพื่อแข่งขันการส่งออก แต่ผลเสียคือคนจีนจะเจอเงินเฟ้อ ทำให้สูญเสียอำนาจซื้อ ชนชั้นกลางต่อไปจะแจ้งเกิดยาก นอกจากนี้จีนต้องเอาดอลล่าร์กลับไปรีไซเกิ้ลซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพื่อให้สหรัฐสามารถรักษาแสนยานุภาพทางทหาร จีนกำลังทำให้หยวนมั่นคง และจะเลิกนโยบายกดค่าเงินให้อ่อน หันมาเน้นสวัตกรรม และการสร้างเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจในขณะที่สยามประเทศยังติดหล่มในนโยบายเงินบาทอ่อนค่าอยู่เพื่อแข่งขายของถูก
ในทางทหารหรือความมั่นคง จีนจะเสริมสร้างความร่วมมือผ่านองค์กรShanghai Cooperation Organization โดยมีรัสเซีย อิหร่าน และประเทศในเชียกลาง และต่อไปประเทศในเอเชียเป็นเข้าร่วมเป็นสมาชิก เพื่อต้านทานองค์กรนาโต้ และจะเน้นเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุนกับนานาประเทศเพื่อสร้างเส้นทางสายไหม เปลี่ยนแปลงระบบการเงินโลก และเพิ่มบทบาทให้เงินหยวนในอนาคต
ส่วนสหรัฐจะไปไม่รอดถ้ายังคงไม่ปรับนโยบายทหารในเชิงรุก แล้วต้องหันกลับไปสร้างความเข้มแข็งภายในอย่างจริงๆจังๆ เพราะว่าความล้มเหลวในอัฟกานิสถานทำให้ความน่าเชื่อถือว่ากองทัพสหรัฐไร้เทียมทานได้จบสิ้นไป โดยเฉพาะเรื่องการถีบส่งพันธมิตรกลางคัน อันเห็นได้จากทหารอเมริกันถอนออกจากฐานทัพBagramที่เป็นสนามบินด้วยในอัฟกานิสถานโดยไม่กล่าวร่ำลาเจ้าบ้านอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยอ้างความปลอดภัยของทหารอเมริกัน และทิ้งข้าวของที่เหลือใช้รวมท้ังพาหนะต่างๆเกลื่อนสนามบิน
ทำให้ตอนนี้หลายๆประเทศที่ถูกสหรัฐให้ยุทำสงครามกับรัสเซียและจีนต้องคิดหนักว่า วันดีคืนดีจากการร่วมหัวจมท้ายกับสหรัฐจะถูกถีบส่งกลางดึกหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยูเครน โปแลนด์ กลุ่มประเทศบอลติกส์ โรมาเนีย ที่ดำเนินนโยบาย ทางทหารที่เป็นปฏิปักษ์กับรัสเซียอย่างชัดเจน อินเดีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมท้ังประเทศไทยจะเข้าร่วมกับสหรัฐในการเป็นปฏิปักษ์กับจีนทางทหารอย่างเต็มตัวหรือไม่ให้ดูกรณีของอัฟกานิสถานเป็นตัวอย่าง
ความเสื่อมทางทหารของสหรัฐมาจากความเข้มแข็งที่มากขึ้นของรัสเซียและจีนนั่นเอง และความอ่อนแอภายในของสหรัฐที่เกิดจากการถูกวอลล์สตรีท เพนตากอนตักตวงผลประโยชน์ของประเทศไปหมด ส่วนรัสเซียและจีนมาถึงจุดที่ไม่ต้องพึ่งพา หรือเกี่ยวพันกันกับสหรัฐก็อยู่ได้ และอยู่ได้ดีขึ้นอีกด้วยผ่านการพึ่งพาตัวเองท้ังด้านเงินทุนและเทคโนโลยี และการพัฒนายูเรเซียและเส้นทางสายไหมที่จะนำพาโลกไปสู่ยุคใหม่ของศตวรรษที่ 21 17/8/2021
ที่มา: https://www.facebook.com/ThanongFanclub/posts/378432366984754